‘ PMS ‘ อาการของผู้หญิงที่ผู้ชายควรเข้าใจ

คำกล่าวที่ว่า ‘เกิดเป็นหญิงแท้จริงแสนลำบาก’ ผู้หญิงส่วนใหญ่คงเห็นด้วยอย่างมาก แต่คุณผู้ชายคงจะไม่เห็นด้วยนัก วันนี้มีบทความน่าสนใจมากที่จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้หญิงในการดูแลตนเอง และสำหรับคุณผู้ชายเพื่อให้เข้าใจคู่ของคุณมากขึ้นค่ะ


เมื่อใกล้มีรอบเดือน ผู้หญิงกว่า 80% ทั่วโลกมักเกิดความไม่สบายทั้งทางร่างกายและจิตใจ สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นอาการป่วยชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ‘PMS’ หรือ ‘Premenstrual Syndrome’ หลายคนต้องสูญเสียสัมพันธภาพกับคนรัก บางคนตัดสินใจด้านธุรกิจผิดพลาดไปในช่วงนี้

Premenstrual Syndrome คือ อาการปวดเกร็งอย่างผิดปกติของมดลูก ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อเรียบ และพบว่าการหดตัวอย่างผิดปกตินี้มีความสัมพันธ์กับปริมาณของ Calcium ที่ผิดปกติด้วย ทุกรอบเดือนผู้หญิงในวัยที่ทางวิชาการเรียกว่า ” วัยเจริญพันธุ์ “ จะมีเลือดหลั่งออกมาจากช่องคลอด ภาษาอังกฤษใช้คำว่า ‘menses’ คนไทยหลายคนเรียกกันติดปากว่า ‘เมนส์’ มากกว่าที่จะเรียกว่า ‘ประจำเดือน’ หรือ ‘ระดู’ ในภาษาไทยดั้งเดิมของเรา

ก่อนมีประจำเดือนสักสองสามวัน หรือหากยาวหน่อยอาจเป็นสัปดาห์ ผู้หญิงส่วนใหญ่ซึ่งอาจถึงร้อยละ 90 จะมีอาการไม่สบายทั้งทางร่างกายและทางอารมณ์ ภาษาทางการแพทย์เรียกอาการกลุ่มนี้ว่า ‘พรีเมนสทรูอัล ซินโดรม’ (premenstrual syndrome) หรือ ‘พีเอ็มเอส’ (PMS) แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า อาการก่อนมีประจำเดือน

อาการในกลุ่มนี้มีตั้งแต่อาการเบาๆ เช่น อารมณ์หงุดหงิด ขี้โมโห ปวดศีรษะ ปวดท้องที่เรียกกันว่าปวดท้องเมนส์ หรือปวดประจำเดือน จนกระทั่งรุนแรงถึงระดับพยายามฆ่าตัวตาย ซึ่งอาการในลักษณะหลังนี้เกิดขึ้นได้น้อยราย

อาการก่อนมีประจำเดือนอาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

กลุ่มอาการแรก อาการป่วยทางอารมณ์ ได้แก่ หงุดหงิด ขี้โมโห เครียด คิดมาก กังวล ท้อแท้ หลงลืม บางคนอาจมีอารมณ์แปรปรวนมากกว่านี้ เช่น ซึมเศร้า เพ้อ คลุ้มคลั่ง หรืออาจทำร้ายตัวเอง

กลุ่มอาการที่สองคือ อาการป่วยทางร่างกาย ได้แก่ อาการปวดหรือเจ็บตามบริเวณต่างๆ เช่น เจ็บทรวงอก ต่อมน้ำนม หรือหัวนม เรียกอาการนี้ว่า แมสทัลเจีย (mastalgia) นอกจากนี้ยังมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง บวม ท้องอืด วิงเวียนศีรษะ เป็นสิว อ่อนเพลีย

กลุ่มอาการที่สามคือ อาการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ เช่น หน้าท้องขยาย ร่างกายสะสมน้ำเพิ่มขึ้น ทำให้น้ำหนักเพิ่ม ผู้หญิงบางคนอาจมีน้ำหนักเพิ่มได้ถึง 1-2 กิโลกรัมในช่วงก่อนมีประจำเดือน หลังจากนั้นน้ำหนักจะลดลงได้เอง

อาการไม่สบายขณะมีรอบเดือนพบได้หลากหลายกว่า 150 ชนิด แบ่งเป็น 5 กลุ่มใหญ่ รายละเอียดมีอะไรบ้าง มาลองดูกันค่ะ…

เจ้าน้ำตา

ลักษณะอาการ : หดหู่ ร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุ ตัดสินใจอะไรยาก สับสนและหลงลืมบ่อยๆ นอนไม่พอ เหนื่อยง่าย รู้สึกเหมือนไม่ได้พักผ่อน

วิธีบำบัด : ดูแลโภชนาการให้ดี บริโภคอาหารที่มีไขมันต่ำให้มากขึ้น เพราะเกลือและไขมันที่สูงจะไปเพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ทำให้เกิดอาการเช่นนี้ นอกจากนี้ควรหาเวลางีบเมื่อรู้สึกเหนื่อย ทำสมาธิหรือเล่นโยคะ บริโภคแร่ธาตุที่จำเป็นให้มากขึ้นในช่วงนี้ คือ สังกะสี (Zinc) เนื่องจากสังกะสีจะช่วยลดอาการเศร้า หดหู่ได้

ขี้โมโห

ลักษณะอาการ : หมดความอดกลั้นจนระเบิดอารมณ์บ่อยๆ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย อารมณ์แปรปรวนจนตามไม่ทัน วิตกกังวลกว่าปกติที่เคยเป็น หุนหัน ทำอะไรโดยไม่ยั้งคิดบ่อยๆ รู้สึกสูญเสียโดยไม่มีสาเหตุ

วิธีบำบัด : บริโภคอาหารมื้อเล็กๆ แต่บ่อยครั้งขึ้น อาการนี้เกิดขึ้นเพราะขาดน้ำตาลในเลือดทำให้หงุดหงิดง่าย การออกกำลังกาย เช่น การเดิน หรือ การปั่นจักรยาน จะช่วยให้ร่างกายปล่อยเอ็นดอร์ฟินทำให้อารมณ์ดีขึ้น รวมทั้งควรบริโภควิตามินบี 6 และอย่าลืมบอกกล่าวคนใกล้ตัวด้วย เขาจะได้พร้อมที่จะให้อภัย

ท้องอืด

ลักษณะอาการ : อาจมีความรู้สึกว่าเต้านมบวมและนุ่มกว่าเดิม เหมือนเนื้อเหลวเช่นเดียวกับหน้าท้อง บางรายอาจมีอาการเต้านมคัด ตึง น้ำหนักขึ้น มือเท้าบวมจนสังเกตได้ มีอาการบวมน้ำตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หน้าท้องป่องออกมากกว่าปกติ

วิธีบำบัด : ควรลดการบริโภคเกลือลง ออกกำลังกายให้ได้สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละไม่ต่ำกว่า 20 นาที เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อและขับน้ำส่วนเกินออกจากร่างกาย อาหารที่มีโปรตีนและไฟเบอร์สูงจะช่วยให้หน้าอกกระชับขึ้น เช่นเดียวกับวิตามินบี 6 และน้ำมันอีฟนิ่งพริมโรสที่ช่วยแก้ปัญหาหน้าอกนุ่มเหลวได้ แต่ก่อนบริโภคน้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส ต้องแน่ใจก่อนนะคะว่าคุณไม่มีก้อนเนื้อผิดปกติอยู่ภายในร่างกายเพราะน้ำมันอีฟนิ่งพริมโรสจะกระตุ้นให้ก้อนเนื้อมีขนาดโตขึ้นได้ และหากมีอาการท้องอืดหรืออาหารไม่ย่อย ควรงดการดื่มกาแฟและแอลกอฮอล์ก่อนมีรอบเดือนไม่น้อยกว่า 2 สัปดาห์

ไม่มีแรง

ลักษณะอาการ : ไม่มีแรง ใจสั่น อารมณ์อ่อนไหวง่าย ร่างกายเจ็บปวดบ่อยโดยไม่มีสาเหตุ ขาดความกระตือรือร้นทางเพศ มีปัญหาเกี่ยวกับผิวในช่วงที่มีรอบเดือน เช่น สิว ฝ้า ปวดศีรษะ ปวดหลัง

วิธีบำบัด : การที่ผิวมีปัญหา ร่างกายเจ็บปวด หรือเป็นตะคริว เกิดจากการผันแปรของฮอร์โมนเพศ ดังนั้นควรงดอาหารหวานจัด แอลกอฮอล์ บุหรี่ และสารกระตุ้นทุกชนิด ควรเดินออกกำลังอย่างน้อยวันละ 30 นาที รวมทั้งบริโภควิตามินเอ เพื่อช่วยรักษาสภาพผิว หรือน้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส ซึ่งมีกรดแกมมาไลโนเลอิก ที่ช่วยรักษาสมดุลของฮอร์โมนได้ แต่อย่าลืมเรื่องของเนื้องอกที่กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้นะคะ

หิวบ่อย

ลักษณะอาการ : จะรับประทานมากกว่าปกติ อยากอาหารหวานจัด เช่น เค้ก หรือ ช๊อกโกแลต อาหารเค็ม เช่น พิซซ่า หรือ พวกถั่วอบเกลือ และมีอาการเวียนศีรษะบ่อย ๆ

วิธีบำบัด : สาเหตุของอาการหิวบ่อยเกิดจากการที่สารเซโรโทนินลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงก่อนมีรอบเดือน ทำให้ต้องการคาร์โบไฮเดรตมากกว่าปกติ เพื่อให้ร่างกายใช้ของหวานไปเพิ่มสารนี้ ควรควบคุมโภชนาการให้ถูกต้องและหากิจกรรมอื่นทำบ้าง จะได้ไม่คิดถึงแต่เรื่องกินตลอดเวลา หรือไม่ก็รับประทานเป็นผลไม้แทน

บางคนอาจมีอาการปนเปกันมากกว่า 1 กลุ่ม ซึ่งไม่ถือว่าผิดปกติ และหากพบว่าตนเองมีอาการอยู่ในกลุ่มใดก็บำบัดให้ถูกต้องจะไม่ได้ต้องทรมานกันทุกๆ เดือน แต่อาการเหล่านี้เป็นอาการเพียงชั่วคราว หากคนรอบข้างเข้าใจ ให้กำลังใจ เชื่อว่าสาวๆ ทุกคนคงผ่านช่วงเวลาดังกล่าวไปได้ไม่ยากเลยค่ะ

หากได้ลองสอบถามแพทย์ว่าเพราะอะไรผู้หญิงจึงได้มีอาการก่อนมีประจำเดือน แพทย์หลายคนจะตอบว่าเป็นเพราะสมดุลของฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติ โดยเชื่อกันว่ามีฮอร์โมนอยู่สองชนิดที่น่าจะเกี่ยวข้องกับอาการนี้ นั่นคือ ฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน (Progesterone) และ โพรแลกติน (prolactin)

ก่อนมีประจำเดือน ฮอร์โมนของเพศหญิงทั้ง 2 ชนิดนี้จะมีระดับสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายเช่นนี้มีผลทำให้เกิดอารมณ์หงุดหงิด ขี้โมโห รวมทั้งอีกสารพัดอาการ หลายต่อหลายคนจึงทึกทักเอาว่าลักษณะอารมณ์อย่างนี้เป็นอารมณ์ของผู้หญิง ซึ่งไม่ยุติธรรมต่อเพศหญิงนัก

แต่ก็มีแพทย์อยู่บางส่วนที่ไม่เชื่อว่าอาการก่อนมีประจำเดือนเกี่ยวข้องกับสมดุลของฮอร์โมน ทั้งนี้ก็เพราะหากทดลองฉีดฮอร์โมนกลุ่มนี้เข้าร่างกายของผู้หญิงในยามที่เธอไม่มีประจำเดือน จะพบว่ามีไม่กี่คนที่เกิดอาการก่อนมีประจำเดือน ดังนั้นอาการก่อนมีประจำเดือนจึงน่าจะเกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือนมากกว่าที่จะเกี่ยวข้องกับฮอร์โมน

อะไรเป็นสาเหตุที่แท้จริงของอาการก่อนมีประจำเดือนจึงยังไม่มีใครรู้แน่ชัด แพทย์บางส่วนเชื่อว่าอาการก่อนมีประจำเดือนเป็นอาการทางจิตเกิดขึ้นจากความกังวลในเรื่องการมีประจำเดือนมากกว่า ผู้หญิงหลายคนห่วงเรื่องความปกติและไม่ปกติของการมีรอบเดือนค่อนข้างมาก ความกังวลนี่เองที่มีผลทำให้เกิดอาการก่อนมีประจำเดือนขึ้น แต่ความเห็นเช่นนี้ก็ยังไม่มีข้อยุติ

เอาล่ะค่ะ’ ได้ทราบถึงเจ้าอาการ PMS มาพอสมควรแล้ว แอดมินขอส่งท้ายด้วย ” PMS SURVIVAL TIPS ” มาให้คุณผู้ชายดูกันแบบขำๆ ค่ะ

 

special thanks nice credit :: www.newunewlook.com

                                      www.youtube.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *