ถามพ่อแม่ 100 คน ว่าอยากให้ลูกฉลาดหรือไม่ คำตอบก็คงเหมือนกันทั้ง 100 คน แต่ทำอย่างไรดีล่ะที่จะทำให้ลูกฉลาด ถ้าเป็นสมัยก่อนก็จะบอกว่า เป็นไปตามบุญตามกรรมหรือพรสวรรค์ของคนนั้น ถัดมาอีกหน่อยก็บอกว่าพ่อแม่ฉลาดลูกก็ฉลาด แต่ปัจจุบัน ความฉลาดเป็นเรื่องที่พ่อแม่สามารถเสริมให้ลูกได้มากขึ้น และปัจจัยที่สำคัญที่สุด ก็คือ พ่อแม่จะสามารถส่งเสริมความฉลาดของลูกได้มากน้อยแค่ไหน
ฉบับนี้เรามาดูกันว่า อะไรบ้างที่ทำให้ลูกฉลาด และพ่อแม่จะมีวิธีส่งเสริมให้ลูกฉลาดได้อย่างไร
1.พันธุกรรม
คือการถ่ายทอดลักษณะจากรุ่นหนึ่งไปสู่รุ่นต่อไป เช่น สีผม สีตา ความสูง โรคบางชนิด รูปร่าง รวมถึงสติปัญญาบางส่วน (จากการวิจัยมีรายงานว่ามีส่วน 48%) ในส่วนของพันธุกรรม เราคงไม่สามารถไปแก้ไขอะไรได้
พ่อแม่ทำได้
การเตรียมพร้อมสุขภาพลูก ตามหลักความเป็นจริง ต้องเตรียมตั้งแต่ยังไม่ตั้งครรภ์กันเลยทีเดียว คุณแม่ต้องมีร่างกายแข็งแรง เสริมวิตามินโฟเลต เพื่อป้องกันภาวะกะโหลกศีรษะไม่ปิด และมีการเช็กสุขภาพ ตรวจเลือด เพื่อดูว่าร่างกายยังไม่มีภูมิคุ้มกันใด ๆ จะได้ฉีดวัคซีนก่อนการตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคนั้น ๆ ระหว่างตั้งครรภ์ เพราะบางโรคมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตต่อลูกในท้องเป็นอย่างมาก
รวมทั้งค้นหาความเสี่ยงของการเกิดโรคธาลัสซีเมีย หรือไม่ ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ เพราะคนไทยมีพาหะของโรคนี้ค่อนข้างเยอะ ทำให้ถ่ายทอดไปยังลูก ถ้ามีลูกเมื่อแม่มีอายุเยอะหรือญาติสนิทเคยเป็นโรคที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับสมอง ที่เห็นได้เด่นชัด เช่น ดาวน์ซินโดรม ควรได้รับการเจาะน้ำคร่ำ เมื่ออายุครรภ์ได้ 4 เดือน เพื่อจะได้มีการวินิจฉัยว่ามีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีการวางแผนก่อนการตั้งครรภ์ และมีการดูแลครรภ์ที่ดีจะลดปัญหาเรื่องความผิดปกติของลูกไปได้มากมาย
2.อาหาร
นอกจากอาหารจะช่วยให้ลูกน้อยเจริญเติบโตแล้ว สารอาหารบางชนิดส่งผลโดยตรงต่อความฉลาดของลูก เพราะสารอาหารจะเข้าไปมีส่วนช่วยในพัฒนาการของการเจริญเติบโตของสมอง ฉะนั้นถ้าเด็กมีภาวะขาดสารอาหาร จะมีผลต่อการเรียนรู้ จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการขาดสารอาหาร มีผลงานวิจัยที่ชัดเจนว่า เด็กที่ได้รับสารอาหารที่ดีจะมีประสิทธิภาพในการอ่าน การคิดเลขที่ดีกว่าเด็กที่ขาดสารอาหาร และในเด็กบางกลุ่ม อาจจะมีปัญหาโรคสมาธิสั้นก็เป็นได้ ฉะนั้นการให้ลูกรับประทานอาหารครบทั้ง 5 หมู่ ในปริมาณที่เพียงพอ จะทำให้พัฒนาการทั้งร่างกาย การเรียนรู้เป็นไปอย่างสมบูรณ์
สารอาหารที่สมองต้องการเป็นพิเศษ เช่น
กรดไขมันโอเมก้า 3 หรือ DHA : มีการเสนอผลงานของการตรวจระดับ DHA ในเลือดของเด็กอายุ 4 ปี ที่มีสุขภาพแข็งแรงพบว่า ถ้ายิ่งมี DHA ในเลือดมากเท่าใด เด็กก็จะทำแบบทดสอบด้านการรับรู้ได้ดีมากขึ้นเท่านั้น โอเมก้า 3 มีผลต่อระบบการทำงานของสมอง และระบบประสาท (จอตา)รวมทั้งช่วยปกป้องการทำงานของหัวใจให้เป็นไปตามปกติ ซึ่งอาหารที่พบโอเมก้า 3 มากก็คือ ปลาทะเล ปลาน้ำจืด ผักใบเขียว
ธาตุเหล็ก : เราอาจจะคุ้นเคยกับประโยชน์ของธาตุเหล็กในเรื่องของการสร้างเม็ดเลือด แต่ธาตุเหล็กก็ยังมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างไขมันสมอง และสารเคมีในสมอง ซึ่งทำให้การทำงานของสารเคมีเป็นไปอย่างปกติ การเรียนรู้ของลูกน้อยก็จะดีไปด้วยเช่นกัน
พ่อแม่ทำได้
การเตรียมอาหารให้ลูกด้วยตัวเอง ยังคงเป็นเรื่องที่ควรใส่ใจ เพราะอาหารที่ทำเองย่อมสะอาดกว่าอาหารนอกบ้าน คุณพ่อคุณแม่สามารถกำหนดรสชาติ และความสดของวัตถุดิบ รวมถึงให้ลูกคุ้นเคยกับการเลือกอาหารที่มีประโยชน์ ไม่พึ่งพาอาหารนอกบ้านมากเกินไป
3.ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายของเด็กเล็ก ๆ นั้นดูเหมือนไม่ใช่ปัญหาใหญ่โต เพราะเด็กวัยเตาะแตะ เป็นวัยที่กำลังพัฒนากล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ให้แข็งแรงและคล่องแคล่ว เด็กอยากจะเดินจะวิ่งและเล่นอยู่เกือบตลอดเวลา
การออกกำลังกาย มีส่วนเกี่ยวข้องกับความฉลาดของลูก เพราะเมื่อร่างกายได้เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ ระบบไหลเวียนโลหิตแข็งแรง ปอดมีการแลกเปลี่ยนออกซิเจนเพิ่ม มีความสุข สบายใจ เนื่องจากร่างกายหลั่งสารเอนดอร์ฟิน และหลับสนิทได้ต่อเนื่องร่างกายก็จะหลั่ง Growth Hormones เมื่อร่างกายพร้อมก็ ย่อมพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ อย่างสนุกสนาน
พ่อแม่ทำได้
สิ่งที่พ่อแม่ควรส่งเสริม คือ ให้ลูกมีโอกาสได้เล่นกลางแจ้ง จัดสถานที่ให้ปลอดภัยต่อการหัดเดิน หัดวิ่งของลูก คอยระวังเรื่องอากาศบ้าง ถ้าลูกเล่นมาก เหงื่อออกมาก อย่าลืมป้อนน้ำลูกให้บ่อยขึ้น และสวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี
4.คำพูดของผู้ใหญ่ในบ้าน
หลายท่านอาจจะงงว่าแค่ ”คำพูด” จะสำคัญอะไรกับความฉลาดของลูก แต่ถ้าลองนึกถึงพฤติกรรมของลูกให้ดี จะเห็นว่าวัยนี้สามารถใช้ภาษาสื่อสารได้ดี มีทั้งความอยากรู้ อยากสัมผัส อยากทดลอง อยากเลียนแบบ ฉะนั้นถ้าเด็กได้รับประสบการณ์ที่ดี ก็จะสะสมสิ่งเหล่านั้นจนกลายเป็นความเข้าใจ และนำไปใช้ในที่สุด
ดังนั้นถ้าพ่อแม่เปิดโอกาสให้สมองของลูกมีการเรียนรู้ ได้คิด ได้ลองทำ ทดลอง โดยไม่ตีกรอบมากจนเกินไปด้วยคำพูดของผู้ใหญ่ที่บอกว่า ”อย่ากระโดดนะ เดี๋ยวล้ม”, “อย่าเอามือไปจับสีสิลูก สกปรก”, “อย่าเล่นทรายนะ เดี๋ยวเข้าตา” ฯลฯ ด้วยคำว่า ”อย่า” หรือการห้ามทำ เท่ากับเป็นการปิดโอกาสการเรียนรู้ของลูก แต่ถ้าพ่อแม่สามารถส่งเสริมให้ลูกได้ทดลอง ได้หยิบจับ โดยดูแลเรื่องความปลอดภัยให้แล้ว ลูกจะสนุกกับการค้นหา ทดลอง พ่อแม่เพียงแต่แนะนำ กระตุ้นให้ลองทำ เท่ากับเป็นการเสริมให้ลูกใช้สมองอย่างเต็มที่
พ่อแม่ทำได้
การพูดกับลูกและสมาชิกในครอบครัว ด้วยคำพูดที่อ่อนหวาน รักษาจิตใจกัน ลูกจะจดจำและเลียนแบบคำพูด และลักษณะนั้น ๆ เกิดความไว้ใจคนในครอบครัว และพ่อแม่ควรพาลูกไปรู้จักกับคนอื่น ๆ บ้าง เป็นการส่งเสริมให้ลูกรู้จักการปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่น เพื่อให้มีสัมพันธภาพ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่
5.ไม่เปิดโทรทัศน์เลี้ยงลูก
หลายปีมานี้ คุณแม่คงเคยได้ยินหรือได้รับทราบข่าวสารถึงพิษภัยของทีวีกับเด็กเล็กมาบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่นักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา การพัฒนาการเด็กค่อนข้างให้ความสำคัญ และเป็นประเด็นกันบ่อยครั้ง ว่าการเปิดทีวีให้เด็กดูนั้น ไม่ได้ช่วยพัฒนาสมองเด็ก แถมยังเป็นหนามแหลมกลับมาทำร้ายลูกเราได้ด้วย มีการวิจัยรับรองมากมายว่าการให้เด็กเล็กดูทีวีมีผลเสีย บางรายเป็นโรคสมาธิสั้นเพราะทีวี
ภาพเคลื่อนไหวหน้าจอจะดึงดูดความสนใจของเด็ก ซึ่งเด็กจะได้ดูภาพ (ได้แค่ภาพสองมิติ) กับได้ยินเสียง แต่ไม่สามารถตอบโต้กับเด็กได้ และเป็นการรับสารฝ่ายเดียว ซึ่งขัดกับหลักการเรียนรู้ของเด็กที่ต้องเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้งหก แต่ทีวีตอบสนองสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ เมื่อเด็กได้ดูทีวีมาก ๆ สมองที่ควรจะได้รับการเรียนรู้ กลับไม่ได้รับการกระตุ้น ทำให้สมองส่วนรับประสาทสัมผัสอื่น ๆ ฝ่อไป(สมองจะดีได้ ต้องถูกใช้งานเป็นประจำ อย่างสม่ำเสมอ) แถมรายการที่ฉายก็ไม่เหมาะสมสำหรับเด็ก ทั้งในเรื่องภาพ คำพูด หรือการโฆษณาต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ไม่น่าเลียนแบบ ฉะนั้นถ้าพ่อแม่ยังคิดว่า การเลี้ยงลูกด้วยทีวีเป็นเรื่องง่าย สามารถหยุดความซนของลูกวัยนี้ได้ ก็เท่ากับทำร้ายลูกตัวเองในระยะยาวก็เป็นได้
พ่อแม่ทำได้
การหากิจกรรมอื่น ๆ ให้ลูกทำ สิ่งที่ลูกได้จะไม่ใช่คำพูดแปลก ๆ เลียนแบบในจอ หรือท่าทางเลียนแบบตัวการ์ตูน แต่จะได้ประสบการณ์จากการเล่น ได้จับ ได้สัมผัส ที่สำคัญคือ ได้คิดต่อยอดสิ่งที่ตัวเองได้เล่น เช่น
► หาสีผสมอาหารมาให้ลูกปั๊มนิ้ว วาดรูปลงกระดาษแผ่นใหญ่
► เตรียมแป้งโดว์ให้ลูกปั้น
► ของเล่นที่พัฒนาทักษะต่าง ๆ เช่น ตัวต่อ บล็อกไม้ หรือแม้แต่ก้อนหิน ใบไม้ที่อยู่บริเวณบ้าน ก็ยังนำมาเล่นกับลูกและเกิดประโยชน์มากกว่าการดูทีวี
► อ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟัง
► ยังมีกิจกรรมอีกมากมายที่พ่อแม่สามารถเล่นกับลูกได้ไม่รู้เบื่อ เพียงแต่ต้องใช้ใจพ่อแม่เล่นด้วยเท่านั้นเอง
โดยสรุปแล้ว ความฉลาดของลูกนั้น ขึ้นอยู่กับสองมือของพ่อและแม่ ที่จะช่วยกันสร้างลูกขึ้นมา ให้เป็นเด็กที่มีความฉลาดจากการเรียนรู้ที่มีพ่อแม่คอยส่งเสริม หรือฉลาดแบบตามธรรมชาติ แล้วปล่อยเป็นหน้าที่ของคุณครูเมื่อถึงเวลาเข้าโรงเรียนเท่านั้น ก็เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่จะตัดสินใจค่ะ
ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก :: http://baby.kapook.com