“อาร์คิมิดิส” (Archimedes) คือ บุคคลสำคัญของโลกอีกผู้หนึ่ง เป็นนักวิทยาศาสตร์และนักคณิตศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสมัยกรีกโบราณ เขาเป็นผู้บัญญัติกฎและพิสูจน์กฎนั้นด้วยการปฏิบัติและทดลองด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นแบบอย่างและวิธีการที่นักวิยาศาสตร์ในปัจจุบันปฏิบัติกันอยู่ นอกจากเป็นนักคิดและนักค้นคว้าแล้ว อาร์คิมีดิสยังเป็นนักประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ โดยการสร้างเครื่องผ่อนแรงในการส่งหลายอย่าง จนได้ชื่อว่า “บิดาแห่งวิทยาศาสตร์ปฏิบัติ”
“อาร์คิมีดิส” เกิดที่ซีราคิว ในเกาะซิซิลี ก่อนคริสตศักราช 248 ปี เป็นบุตรของนักดาราศาสตร์ผู้หนึ่ง เขาจบการศึกษาจากนครอเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์ และมีความสนใจในการศึกษาทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ภายหลังจบการศึกษาแล้ว เขาได้อุทิศเกือบทั้งชีวิตในการศึกษาค้นคว้าและทดลอง โดยได้รับการสนับสนุนจากกษัตริย์เฮียโรตลอดเวลา
อาร์คิมีดิสใช้เวลาส่วนใหญ่ขลุกอยู่กับท่าเรือ และจากนิสัยการเป็นนักคิดและนักประดิษฐ์นั่นเอง เขาจึงสร้างเครื่องผ่อนแรงในการส่งสินค้าที่ท่าเรือหลายอย่าง และได้วางหลักการของคานดีด คานงัด และหลักการของลูกรอก ซึ่งเป็นแนวทางและต้นแบบในการสร้างเครื่องผ่อนแรงในยุคปัจจุบัน
นอกจากงานประดิษฐ์เครื่องผ่อนแรงแล้ว สิ่งประดิษฐ์อีกชิ้นหนึ่งของเขาก็คือ ”กระจกรวมแสง” ซึ่งเป็นกระจกเว้าใช้ส่องกับแสงอาทิตย์แล้วจะเกิดการสะท้องแสงไปรวมกันที่จุดโฟกัส ทำให้เกิดเปลวไฟขึ้น ซึ่งกล่าวกันว่าเมื่อกรีกเกิดสู้รบกับโรมัน เรือรบของโรมันหลายลำได้ถูกเผาผลาญไปด้วยกระจกเรืองแสงแบบนี้นั่นเอง
ผลงานการคิดค้นของเขาที่ได้รับการกล่าวขวัญและมีชื่อเสียงมากๆ ก็คือ “การตั้งกฎการหาความถ่วงจำเพาะของวัตถุต่างๆ” เล่ากันว่าครั้งหนึ่ง กษัตริย์เฮียโรทรงสงสัยว่ามงกุฏที่ทำด้วยทองคำของพระองค์จะถูกช่างทองเจือเงินเข้าไปด้วยเพื่อยักยอกทองบางส่วนไว้ แต่พระองค์ไม่ทราบว่าจะหาวิธีใดที่จะตรวจสอบโดยไม่ต้องนำมงกุฎไปหลอม จึงทรงให้อาร์คิมีดิสซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์และเพื่อนของพระองค์เป็นผู้พิสูจน์
การต้องรับผิดชอบในงานนี้ทำให้อาร์คิมีดิสต้องใช้ความคิดอย่างหนัก ตอนแรกเขามองไม่เห็นทางที่จะตรวจสอบโดยไม่ต้องหลอมมงกุฎเลย แต่แล้วในที่สุดเขาก็ได้รับคำตอบในขณะกำลังจะอาบน้ำ เมื่อเขาก้าวเท้าลงไปในอ่างน้ำซึ่งมีน้ำอยู่เต็ม เขาสังเกตุเห็นว่าน้ำในอ่างน้ำบางส่วนจะล้นออกมาเมื่อเขาก้าวลงไปและคิดว่า ถ้าเขาเป็นคนอ้วน น้ำก็คงจะล้นออกมามากกว่านี้ และทันใดนั้นเขาก็กระโดดออกจากอ่างและตะโกนว่า “ยูเรกา ยูเรกา” (ซึ่งในภาษากรีกแปลว่า “ฉันรู้แล้ว”) เสียงดังลั่น
การที่อาร์คิมีดิสตื่นเต้น เพราะน้ำที่ล้นออกจากอ่างทำให้เขาคิดหาแก้ปัญหาของกษัตริย์ได้ เขาทราบว่าเงินหนักครึ่งกิโลกรัมจะมีปริมาณมากกว่าทองที่มีน้ำหนักเท่ากัน ดังนั้นถ้าเขาจุ่มก้อนเงินลงในถ้วยที่มีน้ำเต็ม น้ำจะล้นออกมามากกว่าเมื่อจุ่มทองที่มีน้ำหนักเท่ากันลงไป เช่นเดียวกับคนอ้วนที่จะทำให้น้ำล้นออกจากอ่างมากกว่าคนผอม โลหะเงินผสมทองก็จะทำให้ปริมาณน้ำล้นออกมาน้อยกว่าเงินบริสุทธิ์ แต่จะมากกว่าทองบริสุทธิ์
อาร์คิมีดิสจึงชั่งมงกุฎและทองแท่งหนึ่งให้มีน้ำหนักเท่ากัน แล้วเอามงกุฎและทองจุ่มลงในถ้วยที่มีน้ำเต็ม เขาพบว่ามงกุฎทำให้น้ำล้นออกมามากกว่าทอง เขาจึงทราบว่ามงกุฎนั้นไม่ได้ทำจากทองคำบริสุทธิ์ทั้งหมด แต่มีโลหะเงินและโลหะอื่นๆ เจือปนอยู่ จากนั้นอาร์คิมีดิสก็เริ่มค้นคว้าหาวิธีการที่จะหาปริมาณของเงินบริสุทธิ์ที่ผสมอยู่ในมงกุฎ โดยนำเอาเงินบริสุทธิ์หนักเท่ามงกุฎใส่ลงในถ้วยน้ำ และเปรียบเทียบปริมาตรของน้ำที่ล้นออกมาแต่ละครั้ง ด้วยวิธีนี้ทำให้เขาคำนวณได้ว่าในมงกุฎมีโลหะแต่ละชนิดผสมอยู่อย่างละเท่าไหร่
เมื่อได้คำตอบแล้วเขาก็นำไปกราบทูลให้กษัตริย์เฮียโรทรงทราบ ทำให้พระองค์พอพระทัยมาก จึงพระราชทานรางวัลให้เขาและลงโทษช่างทองผู้คดโกง และจากเหตุการณ์นี้เอง เขาจึงเป็นผู้ตั้งกฎ ซึ่งถูกเรียกว่ากฎของอาร์คิมีดิสว่า “น้ำหนักของวัตถุที่หายไปในน้ำ จะเท่ากับน้ำหนักของน้ำที่ถูกวัตถุนั้นแทนที่” ซึ่งจากกฎข้อนี้เอง ทำให้นักวิทยาศาสตร์ยุคต่อมาได้ใช้ในการหาความถ่วงจำเพาะของวัตถุ
อาร์คิมีดิสเสียชีวิตจากการถูกสังหาร เมื่อก่อนคริสตศักราช 323 ปี รวมอายุได้ 75 ปี
ที่มา : บุคคลสำคัญของโลก จาก Msolution